วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติแม่วงษ์

เริ่มศึกษาค้นคว้าวันที่ 2 กรกฏาคม 2555
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์    มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดคือจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ เป็นหนึ่งในผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์มากที่สุดตั้งแต่จังหวัดตากจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ พื้นที่ทิศเหนือของอุทยานฯ ติดกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน ทิศใต้ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
แก่งผานางคอย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1,400 เมตร เป็นแก่งหินลำห้วยคลองขลุง จากบริเวณแก่งหินเดินขึ้นไปประมาณ 350 เมตร จะถึงน้ำตกผานางคอย เป็นน้ำตกเล็ก ๆ มี 4 ชั้น และบริเวณใกล้น้ำตกสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ด้วย
จุดชมวิว กม.ที่ 81 จากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามถนนคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 16 กิโลเมตร จะถึงบริเวณหน้าผา เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของป่ารอบ ๆ ได้อย่างสวยงาม บริเวณนี้สามารถกางเต็นท์พักแรมได้
ช่องเย็น กม.ที่ 93 อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 28 กิโลเมตร เป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน-อุ้มผาง สูง 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีสายลมพัดผ่านและหมอกปกคลุมอยู่เสมอ อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และเป็นที่ดูพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามอีกจุดหนึ่ง สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าดิบเขา มีกล้วยไม้หายาก เช่น สิงโตกลอกตา เฟิร์น มหาสดำ มีนกหายาก เช่น นกเงือกคอแดง นกภูหงอนพม่า นกพญาปากกว้างหางยาว นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง นกเหล่านี้จะพบเห็นได้บริเวณบ้านพัก บริเวณ ช่องเย็น มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ แต่จะต้องเตรียมอุปกรณ์มาเอง คือ ผ้าพลาสติก เสื้อกันหนาว ตะเกียงหรือไฟฉาย เพราะไม่มีไฟฟ้า เตาแก๊สสำหรับการปรุงอาหาร โลชั่นกันแมลง และถุงสำหรับนำขยะลงไปทิ้ง เพราะช่องเย็นไม่สามารถกำจัดขยะได้
ยอดเขาโมโกจู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และสูงที่สุดในผืนป่าตะวันตก ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 38 กิโลเมตร เป็นยอดเขาที่นักนิยมการท่องเที่ยวแบบเดินป่า ปีนเขา ต้องการที่จะไปเยือนสักครั้ง ด้วยความสูง 1,964 เมตร คำว่าโมโกจู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า เหมือนฝนจะตก เนื่องจากบนยอดเขามักถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกและมีอากาศหนาวเย็นตลอดเวลา ผู้สนใจจะไปสัมผัสยอดเขาโมโกจู ต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายเพราะจะต้องขึ้นเขาที่มีความลาดชันไม่ต่ำกว่า 60 องศา ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ 5 วัน และต้องพักแรมในป่าตามจุดที่กำหนด นอกจากนั้นควรศึกษาสภาพเส้นทาง สภาพอากาศ และติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางก่อนจากทางอุทยานฯ ก่อนตัดสินใจจะไปสัมผัส โมโกจู ช่วงที่จะเปิดให้เดินขึ้นยอดเขาโมโกจู คือเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
น้ำตกแม่กระสา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 9 ชั้น สูง 900 เมตร อยู่ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินเท้าไป-กลับ 3-4 วัน
น้ำตกแม่รีวา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 21 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สวยงามมาก มี 5 ชั้น รถเข้าไม่ถึงเช่นเดียวกันต้องใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ 2 วัน
น้ำตกแม่กี เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับน้ำตกแม่รีวาและน้ำตกแม่กระสา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาถนนธงชัย การเข้าไปยังน้ำตกต้องเดินเท้าเวลาไป-กลับ 3-4 วัน
น้ำตกนางนวลและน้ำตกเสือโคร่ง อยู่บริเวณ กม.ที่ 99 ของถนนคลองลาน-อุ้มผาง น้ำตกนางนวลต้องไต่เขาลงไปประมาณ 200 เมตร สำหรับน้ำตกเสือโคร่ง ต้องเดินไป 1 กิโลเมตร การเดินทางเข้าไปน้ำตกทั้งสองแห่งต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง
นอกจากนั้นอุทยานฯ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกนางนวล ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกธารบุญมี ซึ่งใช้เวลาในการเดิน 2 ชั่วโมง สามารถศึกษาพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ และพันธุ์นกต่าง ๆ ที่หาดูได้ยากอีกด้วย
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว แต่ต้องนำเต็นท์ไปเอง สอบถามข้อมูลได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กม.ที่ 65 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 62180 โทร. (055) 719010-1
ที่มา 
http://travel.sanook.com/north/nakornsawan/nakornsawan_01957.php

ผลกระทบของเขื่อนแม่วงก์


อากาศที่ร้อนระอุในช่วงนี้ยิ่งสะท้อนเตือนให้รู้ว่าโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความรู้ทางวิชาการบอกไว้ว่าทรัพยากรป่าไม้จะช่วยบรรเทาอุณหภูมิอันร้อนระอุลงได้ ขณะเดียวกันความร้อนที่แผ่ไปทั่วนำมาซึ่งความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร วิธีแก้ปัญหาจากภาครัฐจากกรณีแห้งแล้งคือการสร้างเขื่อนเพราะเชื่อว่าจะแก้ปัญหาน้ำได้ 2 ด้านคือน้ำแล้งและน้ำท่วม
โครงการเขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์กำลังหยิบยกมาแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2555 เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท และใช้เวลาในการก่อสร้าง 8 ปีจะแล้วเสร็จในปี 2562 
มูลนิธิสืบนาคะสเถียร และองค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล (WCS)  มูลนิธิลูกโลกสีเขียว มูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก มูลนิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ   เป็นต้น มีข้อคัดค้านพร้อมระบุเหตุผลคัดค้านว่าเขื่อนแม่วงก์ โดยระบุว่า ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ในเขตพื้นที่ ที่จะถูกน้ำท่วมได้แก่ อ.แม่วงก์ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเท โดยเฉพาะในเขตอำเภอลาดยาว เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำจากพื้นที่ ทั้งทางตอนจากจังหวัดกำแพงเพชร ทางตะวันออกจากอำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอเก้าเลี้ยว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากอำเภอแม่วงก์ และทางทิศตะวันออกจากอำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง ลักษณะทางธรณีวิทยาเช่นนี้เป็นลักษณะทางธรรมชาติ ของพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมของลำนี้อีกหลายสายมาบรรจบกันกับแม่น้ำวง ทำให้บริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่บริเวณลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองอำเภอลาดยาว จ.นครสวรรค์ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงสามารถเก็บน้ำได้บางส่วนเท่านั้น
เหตุผลประกอบการคัดค้าน ด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมนั้น มีหลากเรือง่ง ประเด็นที่สำคัญเขื่อนแม่วงก์จะทำลายสภาพป่าริมลำน้ำแม่วงก์ ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์  โดยมีต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่นต้นกระบากใหญ่ ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี และต้นไม้ใหญ่อื่นๆ ที่หลงเหลือจากการถูกตัดฟันในอดีตขึ้นปะปนกับ ป่าไผ่  และเขื่อนแม่วงก์จะนำไปสู่การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า บริเวณริมอ่างเก็บน้ำอย่างยากที่จะควบคุม เนื่องจากบริเวณเหนือแนวอ่างเก็บน้ำ ยังมีไม้สัก ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ที่มีขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปี